Currently Empty: £0.00




วันที่ 4 ธันวาคม 2567 ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดงานฯ บูธนิทรรศการ อพ.สธ.-ภาคใต้ ยังคงได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม ด้วยการนำเสนอเรื่องราวทรัพยากรท้องถิ่นที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์
ไฮไลท์เด่นในนิทรรศการ
– น้ำตาลจาก ขนมดอกจาก : แสดงกระบวนการผลิตน้ำตาลจากและขนมดอกจาก จากพืชจากในพื้นที่ภาคใต้ที่สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น โดย อพ.สธ.-มวล.
– โลชั่นผักเสี้ยนผี : ผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่มีสรรพคุณบำรุงผิว โดย โรงเรียน โยธินบำรุง จังหวัดนครศรีธรรมราช
– สับปะรดภูเก็ต : ผลไม้ขึ้นชื่อที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น ของจังหวัดภูเก็ต โดย อพ.สธ.- มรภ.ภูเก็ต
– ทุเรียนพื้นบ้าน : การอนุรักษ์และส่งเสริมพันธุ์ทุเรียนเฉพาะถิ่นที่หายาก โดย อพ.สธ.-มอ.
– ลูกปัดโนราห์ท่าข้าม : งานหัตถกรรมอันงดงามที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมโนราห์ โดน อบต.ท่าข้าม จังหวัดสงขลา
– ทุเรียนเทศบาร์ : ผลิตภัณฑ์ใหม่จากทุเรียนเทศที่สร้างสรรค์และน่าสนใจ โดย อพ.สธ.-มทร.ศรีวิชัย
– ข้าวหอมบอน : พืชท้องถิ่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดย อพ.สธ.มรภ.สุราษฎร์ธานี
– มะพร้าว : พืชเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดย อพ.สธ.มรภ.สุราษฎร์ธานี
ผู้เข้าชมงานต่างแสดงความสนใจและชื่นชมในความหลากหลายของทรัพยากรท้องถิ่นที่นำมาจัดแสดง พร้อมทั้งได้รับความรู้และแรงบันดาลใจจากนิทรรศการนี้
ตลอดทั้งวัน บูธจัดเต็มกิจกรรมความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น พร้อมทั้งมีของแจกมากมาย เช่น สมุดโน้ต น้ำตาลจาก เยลลี่สับปะรด ทุเรียนเทศบาร์ และของที่ระลึกจาก อพ.สธ.-ภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ถูกใจของผู้เข้าร่วมทุกวัย บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการร่วมสนุกและพูดคุยอย่างใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ อพ.สธ.-ภาคใต้ และผู้เข้าชม
สำหรับงานในครั้งถัดไป จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-10 พฤศจิกายน 2568 “การประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ 12 ทรัพยากรไทย : หวนดูทรัพย์สิ่งสินตน” โดยมี ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นเจ้าภาพหลัก ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานนี้ได้เร็ว ๆ นี้ ที่ Facebook : ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยแม่โจ้


วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(อพ.สธ.-มวล.) รวมถึงเจ้าหน้าที่ อพ.สธ.-ภาคใต้ ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นพิธีกรดำเนินรายการ โดย อพ.สธ.-มวล. มี คุณนันทกาญจน์ บุญช่วย และ ว่าที่ ร.ต.อัครายุทธ รังสิมันตุชาติ ได้ทำหน้าที่พิธีกรในกิจกรรมการนำเสนอผลงาน การประชุมวิชาการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ณ ห้องหยาดปัญญา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเองให้กับผู้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงาน
ซึ่งในการนำเสนอผลงาน ประกอบด้วย 3 โรงเรียน จาก อพ.สธ.-ภาคเหนือ ได้แก่
1. การนำเสนอผลงาน เรื่อง คุณค่าและประโยชน์ที่ได้จากการบูรณาการสาระการเรียนรู้ธรรมชาติแห่งชีวิต โดย โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 45 จังหวัดตาก
2. การนำเสนอผลงาน เรื่อง คุณค่าและประโยชน์ที่ได้จากการบูรณาการสาระการเรียนรู้ธรรมชาติแห่งชีวิต โดย โรงเรียนตากพิทยาคม จังหวัดตาก
3. การนำเสนอผลงาน เรื่อง คุณค่าและประโยชน์ที่ได้จากการบูรณาการสาระการเรียนรู้ธรรมชาติส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ โดย โรงเรียนเทศบาลวัดเหมืองง่า จังหวัดเชียงราย
ในส่วนของบูธนิทรรศการ เจ้าหน้าที่ อพ.สธ.-มวล. ได้ร่วมจัดกิจกรรมที่บูธนิทรรศการ อพ.สธ.-ภาคใต้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหลักของงาน กิจกรรมภายในบูธมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น พร้อมแจกของที่ระลึกให้กับผู้เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง
การจัดงานในครั้งนี้มีเป้าหมายในการเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในเครือข่าย อพ.สธ. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายพื้นที่ในภูมิภาคเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก


วันที่ 2 ธันวาคม 2567 – ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(อพ.สธ.-มวล.) ในฐานะผู้ร่วมผลักดันและสนับสนุน ได้ร่วมเข้าฟังการบรรยายงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
ประกอบด้วย 2 โรงเรียน ภายใต้การดูแลของศูนย์ฯ ได้แก่
1. การบรรยายหัวข้อ “คุณค่าและประโยชน์ที่ได้จากการบูรณาการศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ” โดยโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 จังหวัดกระบี่
2. การบรรยายหัวข้อ “เครื่องรับฝากปูม้า โดยบันทึกข้อมูลผู้ฝากและคัดแยกลูกปูม้าจากถึงเลี้ยงอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์แม่ข่าย” โดยโรงเรียนโยธินบำรุง จังหวัดนครศรีธรรมราช
การนำเสนอครั้งนี้สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 และโรงเรียนโยธินบำรุง กับพี่เลี้ยงอย่าง อพ.สธ.-มวล. ที่ร่วมผลักดันและส่งเสริมการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ที่ไม่เพียงแต่เพิ่มพูนความรู้ให้แก่นักเรียน แต่ยังสร้างคุณค่าให้กับชุมชนในพื้นที่อีกด้วย
อพ.สธ.-มวล. ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาและสนับสนุนแก่โรงเรียน โดยการเป็นที่ปรึกษาให้บุคลากรสถานศึกษารวมถึงนักเรียนให้สามารถต่อยอดความรู้ในเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และใช้ความรู้นี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
การนำเสนอผลงานของโรงเรียนในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่โรงเรียนที่ดำเนินงานสวนพฤษศาสตร์โรงเรียน โดยโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 และโรงเรียนโยธินบำรุง ได้รับคำชื่นชมจากผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายถึงความตั้งใจและศักยภาพในการบูรณาการการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม
ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าสนับสนุนโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกโครงการ อพ.สธ. เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป


วันที่ 1 ธันวาคม 2567 ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย รศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย รศ.ดร.ฉัตรชัย กัลยาณปพน รักษาการผู้อำนวยการอุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมรับฟังรรยายพิเศษ เรื่อง สรุปการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ของ อพ.สธ. – มทส. โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
รวมถึงร่วมแสดงความยินดีกับเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา เนื่องในโอกาสได้รับประกาศผลการรักษามาตรฐาน อพ.สธ. ปีพุทธศักราช 2567 ในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ.2567 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพ.สธ. และเลขานุการ เป็นผู้มอบ
ทั้งนี้ ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มวล. ได้เดินชมบูธนิทรรศการ หน่วยงานสนองพระราชดำริฯ, สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และฐานทรัพยากรท้องถิ่น ร่วมถ่ายภาพร่วมกับบุคลากรและผู้บริหารของสมาชิกภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์ฯ ทั้งหมด ทั้งหมด 3โรงเรียน 2องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่
– งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน : ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านแผ่นดินเสมอ, โรงเรียนโยธินบำรุง และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37
– งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น : เทศบาลตำบลพรุใน และเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่


วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมหยาดปัญญา อพ.สธ. ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ทรงเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด “ความสมดุลบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” มีสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน, สมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น, หน่วยงานสนองพระราชดำริ และเครือข่ายโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ อพ.สธ. ทั่วประเทศ เพื่อเทิดพระเกียรติฯ และสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและประชาชน เห็นคุณค่าของทรัพยากรไทย ซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
โดยศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย รศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งอาทิ หนังสือ “จาก” พืชอนุรักษ์ อพ.สธ. ลำดับที่ ๑๐, หนังสือ คู่มือ สิ่งแวดล้อมศึกษาป่าจาก สำหรับประถมศึกษา, หนังสือ คู่มือ สิ่งแวดล้อมศึกษาป่าจาก สำหรับประถมศึกษา, น้ำตาลจากผง, น้ำสัมจาก, “โลชั่นยับยั้งเชื้อแบคทีเรียจากสารสกัดผักเสี้ยนผี”, “กาบดำกรอบ”, หนังสือ ตำรับอาหาร “ต้นจาก”
พร้อมด้วย รศ.ดร.ฉัตรชัย กัลยาณปพน รักษาการผู้อำนวยการอุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้แทนจากศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้ารับเสร็จฯ ณ ห้องหยาดปัญญา อพ.สธ. รวมถึง รศ.ดร.อรอนงค์ เฉียบแหลม ผู้ถวายรายงานประจำบูธนิทรรศการ
โดยครั้งนี้ อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ของศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มวล. เข้าร่วมจัดนิทรรศการจำนวน 1 เรื่อง คือ “จาก” พืชอนุรักษ์ อพ.สธ. ลำดับที่ 10 รวมถึงผลการดำเนินงานเรื่องอื่นๆ จากสมาชิก อพ.สธ.-ภาคใต้
ทั้งนี้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มวล. ได้นำสมาชิกภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์ฯ เข้าร่วมจัดบูธนิทรรศการ ทั้งหมด 3โรงเรียน 2องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่
– งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน : ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านแผ่นดินเสมอ, โรงเรียนโยธินบำรุง และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37
– งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น : เทศบาลตำบลพรุใน และเทศบาลตำบลเกาะยาวใหญ่
รวมถึงได้ร่วมแสดงความยินดีกับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 จังหวัดกระบี่ ในฐานะสมาชิกของศูนย์ เนื่องในโอกาสได้รับพระราชทานป้ายสนองพระราชดำริฯ ในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ประจำปี พ.ศ.2567


วันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2567 ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับศูนย์แม่ข่ายและศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ภาคใต้ เตรียมจัดสถานที่และบูธนิทรรศการในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ และ คุณมรกต วัชรมุสิก เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ ระดับ 7 โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการของศูนย์แม่ข่ายและศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ภาคใต้
รวมถึงได้เข้าร่วมการประชุมหน่วยงานจัดนิทรรศการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ณ หยาดปัญญา โดยมี นายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ซึ่งมีหน่วยงานสนองพระราชดำริฯมากกว่า 100 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
Facebook Comments Box